
สำหรับพ่อแม่ทุกคนแล้วคงจะไม่มีอะไรน่าชื่นใจไปกว่าการได้เห็นลูกน้อยเติบโตด้วยพัฒนาการสมวัย ทั้งความแข็งแรงของร่างกาย จิตใจ และการฉลาดรู้คิด พร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้พ่อแม่เช่นเราจึงต่างมองหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อดูแลเด็กๆ อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในส่วนของอาหารที่ต้องมีโภชนาการครบถ้วน รวมไปถึงกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้ต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่า นอกเหนือจากการเสริมพัฒนาการให้ลูกในช่วงที่พวกเขาลืมตาตื่นแล้ว อีกช่วงเวลาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือตอนที่พวกเขา “นอนหลับ” เพราะในขณะที่พวกเขาพักผ่อน ในสมองของเด็กๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล และเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว
มีผลการศึกษาระบุไว้ว่าการเติบโตและการพัฒนาของสมองจะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงสามปีแรกของชีวิต และโดยเฉลี่ยสมองของเค้ายังเพิ่มขนาด เกือบ 2 เท่า เมื่ออายุ 1 ปี ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าว เป็นช่วงวัยที่เด็กๆ จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวผ่านการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ ส่งผลให้สมองของพวกเขามีการทำงานและพัฒนาการตลอดเวลาซึ่งการเรียนรู้ที่เพียงพอในช่วงขวบปีแรกๆ นี้จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่พัฒนาการในช่วงวัยต่อไป
เมื่อการเรียนรู้เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน ในช่วงเวลา “นอนหลับ” จึงเป็นโอกาสสำคัญที่สมองของเด็กๆ จะได้นำข้อมูลจากประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเจอมาประมวลผล และเปลี่ยนเป็นความจำเพื่อให้พร้อมกับการนำมาใช้ใหม่¹ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะมีผลโดยตรงกับประสิทธิภาพในการเรียนรู้และความคิด¹ เช่นในเรื่องของการคำนวณ การตัดสินใจ ความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมไปถึงการมีสมาธิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเด็กๆ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ด้วยการนอนหลับที่เต็มอิ่มและมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ นอกเหนือจากการสร้างวินัยให้เด็กๆ นอนหลับตรงเวลา อีกสิ่งที่ช่วยได้คือการใส่ใจกับสารอาหารที่จะช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพยิ่งขึ้น อาทิ กรดอะมิโนที่จำเป็นต่างๆ ที่ร่างกายของเด็กไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องทานเสริมเข้าไปเท่านั้น เช่น “แอล-ทริปโตเฟน” สารอาหารสำคัญที่เมื่อทานเข้าไปสมองจะเปลี่ยนมันให้กลายเป็น “เซโรโทนิน”² สารสื่อประสาทตั้งต้นของฮอร์โมนเมลาโทนินที่มีส่วนช่วยในการควบคุมการนอนหลับให้มีคุณภาพ³ อีกทั้งช่วยให้หลับเร็ว หลับนาน และหลับลึกยิ่งขึ้น เมื่อเด็กๆ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็จะสามารถเรียนรู้ในเวลาตื่นได้เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสริมศักยภาพเพิ่มเติมได้อีกด้วยสารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ เช่น DHA หรือสฟิงโกไมอีลิน ที่มีส่วนในการช่วยสร้าง “ปลอกไมอีลิน” หรือปลอกหุ้มปลายประสาทซึ่งจะช่วยให้การเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ⁴ มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้มีพัฒนาการที่ดีสมวัย⁵
ขณะที่ในผู้ใหญ่การนอนไม่เพียงพออาจส่งผลแค่ในเรื่องของความอ่อนล้าระหว่างวัน แต่กับเด็กวัยเรียนรู้ที่ต้องการการนอนหลับมากกว่าครึ่งหนึ่งของวันนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อให้สมองของลูกน้อยได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และพร้อมสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดวัน.